ว่าด้วยเรื่อง "Angel Investor"

บริษัทสตาร์ทอัพทีมหนึ่งทำอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิสำหรับโรงพยาบาล ดูจะมีอนาคต

สตาร์ทอัพทีมนี้มีสมาชิกในทีมที่น่าสนใจ ที่มีประสบการณ์จบปริญญาเอกด้าน IoT (Internet of Thing) และมี developer ที่เทพมาก ก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลจากสถาบันของรัฐ ได้รับเงินลงทุนมาผลิตอุปกรณ์ และนำไปทดสอบในสเกลเล็ก จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนได้นำอุปกรณ์นี้ไปเสนอให้โรงพยาบาล ได้รับความสนใจจนโรงพยาบาล จนโรงพยาบาลขอให้นำเข้าไปทดสอบใช้จริงในห้องยาของโรงพยาบาลในเครือ

เรื่องยุ่งจึงเกิดขึ้นเมื่อสตาร์ทอัพทีมนี้มีเงินทุนไม่พอที่จะผลิต และตามเส้นทางของสตาร์ทอัพ การระดมทุนครั้งแรกจึงเริ่มขึ้น

เมื่อข่าวการระดมทุนแพร่ออกไป นักลงทุนอิสระคนหนึ่งเห็นศักยภาพของทีม รีบควักกระเป๋าให้ทำสินค้าต้นแบบสำหรับเทคโนโลยีที่ดูแล้วมีอนาคตแน่ๆ เพราะมีลูกค้ารอใช้งานอยู่แล้ว

ทุกอย่างดูจะดำเนินไปด้วยดี การทดสอบดำเนินไป แต่แล้ววันหนึ่งสตาร์ทอัพทีมนี้ก็เดินคอตกเข้ามาหานักลงทุน แล้วบอกว่าไปต่อไมได้แล้วเพราะทีมแตก สมาชิกในทีมที่เทพกันทุกคน มีทักษะกันคนละแบบ ทำงานไม่ลงรอยกัน และคนที่สำคัญที่สุดคือคนที่เชี่ยวชาญเรื่อง IoT (Internet of Thing) ขอถอนตัวออกไปทำสตาร์ทอัพบริษัทอื่นโดยเอาความรู้ และสิ่งที่ทำมาติดตัวไปด้วย!

นี่คือเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น นักลงทุนรายนี้จึงสูญเงินนับล้านที่ลงทุนไป และไม่สามารถทำอะไรได้ ได้แต่เสียดาย

นักลงทุนที่มีความเป็นอิสระไม่ได้เป็นสถาบัน มักจะลงทุนในสตาร์ทอัพโดยใช้เงินส่วนตัว และลงทุนในช่วงแรกของการทำธุรกิจ เราเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่า  “Angel Investor” ซึ่งมาจากศัพท์ที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ช่วยลงทุนทำละคร braodway ให้กับคณะละครที่ต้องปิดการแสดง เพราะไม่มีเงินทุนจะทำต่อ

พวกเขาเป็น angel เพราะมาช่วยในจังหวะคับขัน หรือหากเกิดขึ้นในสตาร์ทอัพก็คือมาลงทุนในช่วงแรก ซึ่งเป็นช่วงที่เส้นทางของสตาร์ทอัพยังดูเบลอๆ ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

จะว่าไปแล้วกลุ่ม Angel Investor มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะลงทุนในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพ แล้วทำไมใครๆ จึงยังอยากเป็น

แน่นอนการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การลงทุนในสตาร์ทอัพเป็นความเสี่ยงที่หากลงทุนถูกที่ถูกทาง จะมีผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ มากกว่าการลงทุนในประเภทอื่นๆ

Andy Bechtolsheim นักลงทุนคนแรกของกูเกิล ลงทุนด้วยเงิน 100,000 ดอลลาร์ ตั้งแต่วันที่กูเกิลยังเป็นเพียงแค่ prototype และ 12 ปีต่อมาเงินจำนวนนี้กลายเป็น 1.5 พันล้านดอลลาร์ เมื่อกูเกิลทำไอพีโอเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการลงทุนของ Angel Investor และนี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้ Angel Investor หรือนักลงทุนอิสระที่มีเงินเย็น อยากลงทุนในสตาร์ทอัพ แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงสูง

Angel Investor จำเป็นต้องรู้ว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในกลุ่มนักลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งหมด เพราะเป็นการลงทุนในช่วงของการลองผิดลองถูก แต่ก็เป็นการลงทุนด้วยเม็ดเงินไม่มาก จึงมีความจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง อย่าทุ่มเงินลงทุนลงไปในสตาร์ทอัพบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่กระจายออกไปในหลากหลายรูปแบบธุรกิจและเทคโนโลยี ซึ่งควรเป็นธุรกิจที่พอมีความรู้และเข้าใจพอที่จะประเมินแนวโน้มของธุรกิจได้

เมื่อการลงทุนของ Angel Investor อยู่ในช่วงเริ่มต้น (early stage) การจะเอาธุรกิจเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจลงทุน จึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ หรือหากทำได้ก็อาจไม่เป็นตามที่คาดการณ์

Angel Investor ส่วนใหญ่จึงเลือกลงทุนกับ founder หรือผู้ก่อตั้ง นั่นคือลงทุนในความสามารถของคน มากกว่ารูปแบบของธุรกิจ เพราะในช่วงเริ่มแรก สตาร์ทอัพจะปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปเรื่อยๆ ยิ่งทำจะยิ่งเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น จึงเกิดการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ (pivot) ไปจนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ที่สุด ที่ทำให้สามารถเพิ่มผู้ใช้งาน และรายได้อย่างก้าวกระโดด

สตาร์ทอัพที่จะเติบโตไปได้ ต้องมีความเป็นผู้ประกอบการ อดทน ทำจริง หลงใหลในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่ทำเพียงเพราะ “อยากรวย” หรือ “ตามกระแส” รวมถึงต้องมีความสามารถ และทักษะเฉพาะในสิ่งที่ทำ ขวนขวาย เปิดที่จะปรับเปลี่ยน แต่ก็ต้องมีจุดยืนพอที่รู้ว่าปลายทางต้องการอะไร ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนไปจนหลงทาง หาทางของตัวเองไม่เจอ ฟังดูไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่สตาร์ทอัพหลายทีมก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถประสบความสำเร็จได้จริง!

เม็ดเงินลงทุนที่ Angel Investor ลงทุนในต่างประเทศอาจจะสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ในหนึ่งบริษัท ส่วนในไทย Angel Investor จะเริ่มลงทุนตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลายล้านบาท

ตัวอย่างของ Angel Investor ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จก็มีมากมาย เช่น อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ หรือ ต๊อบ เถ้าแก่น้อย ที่ลงทุนใน โอมิเซะ (Omise) ผู้ให้บริการการชำระเงินออนไลน์ ที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว หรือ ภาวุธ พงศ์วิทยภานุ เจ้าของ talad.com ที่ลงทุนใน Builk สตาร์ทอัพด้านก่อสร้างที่ขยายธุรกิจไปในหลายประเทศ ซึ่งแน่นอนหากเทียบมูลค่าตอนนี้กับการลงทุนในครั้งแรก สตาร์ทอัพเหล่านี้ได้สร้างผลตอบแทนให้กับ Angel Investor ไปแล้วหลายสิบเท่า

นี่คือเรื่องราวของความสำเร็จ ในขณะเดียวกัน มีสตาร์ทอัพอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำให้นักลงทุนต้องสูญเงินที่ลงไป เพราะขยายกลุ่มลูกค้า และสร้างมูลค่าของธุรกิจให้สูงขึ้นไม่ได้ อยู่ในภาวะที่นักลงทุนเรียกกันว่า “ซอมบี้” คือ ไม่ตายแต่ก็ไม่โต!

เรื่องราวของสตาร์ทอัพเหล่านี้มักไม่ได้ถูกตีแผ่ให้สาธารณชนได้รับรู้ นักลงทุนที่ต้องการเป็น Angel Investor จึงต้องศึกษา Founders และเข้าใจธุรกิจที่จะลงทุนอย่างดี อย่ามองเพียงไอเดียที่สวยงาม หรือ ทีมที่ดูจะมีที่มาที่ดี ครบถ้วน ดูจะดีไปหมด แต่ต้องมองลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ของทีม ความเป็นผู้นำของ Founder และที่สำคัญที่สุดคือความเป็นผู้ประกอบการของผู้ก่อตั้ง (founder)

ในวันแรกที่ Airbnb เดินเข้าไปหา Y Combinator ซึ่งเป็น accelerator ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ลงทุนในสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จหลายบริษัท ในวันนั้นไม่มีใครเชื่อว่าโมเดลธุรกิจของ Airbnb จะเป็นไปได้ รวมถึง Paul Graham ผู้ก่อตั้ง Y Combinator ด้วย

แต่เขามองเห็นความเป็นผู้ประกอบการในตัว Brian Chesky ผู้ก่อตั้ง Airbnb ในขณะที่นักลงทุนคนอื่นๆ ขอผ่าน แต่ Paul Graham ตัดสินใจลงทุนเงินก้อนแรก 200,000 ดอลลาร์ใน Airbnb จนปัจจุบัน Airbnb ประสบความสำเร็จมีมูลค่าถึง 38,000 ล้านดอลลาร์

นักลงทุน Angel Investor ต้องเผื่อใจไว้ว่า 90% ในเงินลงทุนที่ลงไปมักจะสูญ จึงต้องบริหารพอร์ตการลงทุนให้ดี แต่หากมีเพียงหนึ่งบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ความสำเร็จนั้นมักจะทดแทนการลงทุนทั้งหมดที่สูญไป และทำกำไรให้อีกหลายเท่าตัว!
https://www.thebangkokinsight.com/50140/