“สตาร์ทอัพ” กลายเป็นศัพท์ที่ทุกคนคุ้นเคย เมื่อภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญและส่งเสริมสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง หลายคนมีคำถามว่า นี่จะเป็นเพียงกระแสและค่อยๆ เลือนหายไปหรือไม่
จริงๆ แล้วสตาร์ทอัพก็คือ กลุ่มคนที่ประกอบธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน และสามารถนำเทคโนโลยีนั้นไปทำซ้ำในที่อื่นๆ ได้
หากประเมินว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทน้อยลงในชีวิตเรา ก็คงเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีจะค่อยๆ เสื่อมความนิยม และเป็นแค่กระแสในช่วงหนึ่งเท่านั้น
แต่หากเทคโนโยลีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นเรือยๆ สิ่งนี้ก็อาจกลายเป็นธุรกิจที่เป็นกระแสหลักในอนาคตก็เป็นได้ ไม่ว่าเราจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่าสตาร์ทอัพหรือไม่ นั่นก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะสตาร์ทอัพ เป็นเพียงแค่คำสมมติที่นำมาใช้เรียกกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้เท่านั้น
เมื่อหลายคนต่างเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวโน้มการลงทุนในเทคโนโลยีจึ งเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ ปรับพอร์ทมาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะบริษัทที่ทรงอิทธิพลในโลกล้วนเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และหนึ่งในการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจในช่วงนี้ก็คือการลงทุนในสตาร์ทอัพ
การลงทุนในสตาร์ทอัพมีความแตกต่างจากการลงทุนประเภทอื่นอย่างมาก นักลงทุนจึงต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนทำการลงทุน เพราะการลงทุนในสตาร์ทอัพ ยังไม่มีกฎกติกา ไม่มีผู้คุมกฏเหมือนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องศึกษา และประเมินเอง
ในครั้งนี้เรากำลังพูดถึงการลงทุนในสตาร์ทอัพที่นักลงทุนตัดสินใจลงทุนเอง ไม่ได้ผ่านแพล็ตฟอร์ม Live ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีข้อกำหนดอยู่ว่าผู้ลงทุนต้องเป็นสถาบันนิติบุคคลร่วมลงทุน (Private Equity) หรือเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้มากกว่า 4 ล้านบาท และมีทรัพย์สินมากกว่า 50 ล้านบาท ต้องมีประสบการณ์ลงทุนมากกว่า 1 ปีเท่านั้น
แต่หากไม่อยู่ในข้อกำหนดดังกล่าว นักลงทุนหลายคนก็มักเลือกลงทุนเองโดยตรงไปที่สตาร์ทอัพเลย สิ่งที่แตกต่างกันสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กับการลงทุนในสตาร์ทอัพนั้นมีหลายอย่างด้วยกัน
การทำกำไรของการลงทุนในสตาร์ทอัพมาจากการขายหุ้นเมื่อมีการระดมทุนรอบต่อๆ ไป เมื่อมูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้น หรือเมื่อบริษัทเข้าตลาด นักลงทุนจะได้รับส่วนต่างจากมูลค่าบริษัทที่เพิ่มขึ้น
Peter Thiel นักลงทุนคนแรกของ Facebook ลงทุนด้วยเงิน 500,000 ดอลลาร์ ในวันที่ Facebook เข้าตลาด Peter Thiel ขายหุ้นของเขาด้วยมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ นักลงทุนในสตาร์ทอัพรู้ดีว่า การรีรอให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพโตแล้วค่อยเข้าไปลงทุน คือการเสียโอกาสมหาศาล ผลกำไรที่ได้อาจแตกต่างกันถึง 95%
นักลงทุนต้องประเมินความสามารถในการเติบโตของสตาร์ทอัพให้ดี เพราะนั่นหมายถึงระยะเวลาที่ต้องนำเงินไปแช่อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะสามารถระดมทุนรอบต่อไปได้ ในวันที่ Facebook เข้าตลาด ห่างจากวันแรกที่ Peter Thriel ลงทุนถึง 8 ปี ดังนั้นการลงทุนในสตาร์ทอัพจึงควรมาจากเงินเย็น
เป็นช่วงที่มูลค่าของบริษัทยังประเมินได้ยาก ขึ้นอยู่กับการประเมินศักยภาพและแนวโน้มในอนาคต เป็นช่วงที่ใช้เม็ดเงินลงทุนไม่มาก เพื่อแลกกับจำนวนหุ้นที่ต้องการ โอกาสในการทำกำไรได้มากๆ จากบริษัทที่ประสบความสำเร็จจึงสูงกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาก
บริษัทที่สามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ล้วนเป็นบริษัทที่เติบโตแล้ว อัตราการทำกำไรจึงเทียบกันไม่ได้กับการลงทุนในสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มธุรกิจ และแน่นอนควรประเมินความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
หลักในการคำนวณมูลค่าของสตาร์ทอัพมีมากกว่า 20 แบบ ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ แต่ในที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการต่อรอง และการประเมินศักยภาพของธุรกิจ และการเติบโตในอนาคต
มูลค่าของสตาร์ทอัพจึงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุน และการเลือกวิธีที่จะใช้ประเมิน ไม่เหมือนตลาดหุ้นที่มีราคาชัดเจน นักลงทุนเพียงประเมินว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ และประเมินสถานการณ์ของบริษัท สามารถเลือกลงทุนในกลุ่มบริษัทที่มีความมั่นคงได้ เช่น SET50 หรือ SET100
ความแตกต่างนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ความเสี่ยงและผลกำไรมักไปด้วยกันเสมอ ความเสี่ยงสูงผลตอบแทนก็มาก
การลงทุนล้วนมีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงจะลดลง หรือกลายเป็นโอกาสอันมหาศาล ขึ้นอยู่กับการศึกษาอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงทุน!