“เป็นไงบ้าง ยังทำตัวเดิมอยู่รึเปล่า” คำถามนี้มักเกิดขึ้นกับสตาร์ทอัพที่ไม่ได้เจอกันมาระยะหนึ่ง และเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วง Early Stage คือระยะเริ่มต้นของการทำธุรกิจ เป็นช่วงของการลองผิดลองถูก และดูว่าแพลตฟอร์ม หรือเทคโนโลยีนั้นมีผู้ต้องการในตลาดจริงหรือไม่
แน่นอน คำตอบของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ คือ “เปลี่ยนแล้วครับ” หรือ “ปรับไปเยอะแล้วครับ” ส่วนที่เหลือจะตอบว่า “ตอนนี้ไปทำอย่างอื่นแล้วครับ!”
การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ โดยยังใช้แพล็ตฟอร์มเดิม หรือที่เรียกว่า pivot เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทาย ต้องมีการลองผิดลองถูก จนกว่าจะหาแนวทางดีที่สุดเจอ ในระยะแรก จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาทางของตัวเองเจอ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจนยอมควักกระเป๋าและซื้อซ้ำ และสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปทำซ้ำในทื่อื่นๆ และขยายต่อไปได้!
กว่าจะไปถึงจุดนั้น สตาร์ทอัพต้องคลุกคลีกับกลุ่มผู้ใช้ เก็บข้อมูลจนมั่นใจ และปรับเปลี่ยนจนสนองตอบความต้องการ
กระบวนการที่ว่านี้ อาจใช้เวลาเป็นปี ถือเป็นช่วงวัดใจ สมาชิกในทีมต้องร่วมมือร่วมใจ มีความเชื่อ พร้อมจะลุยไปด้วยกัน การเดินแบบสะดุดไป ล้มไป ในช่วงแรกนั้น ต้องอาศัยพลังใจที่เข้มแข็งมาก เราจึงได้เห็นสตาร์ทอัพจำนวนไม่มาก ที่ประสบความสำเร็จถึงขั้นเติบโตไปต่างประเทศหรือมีมูลค่าสูงลิ่ว กว่าจะเดินไปถึงจุดนั้นได้ ทุกคนล้วนต้องผ่านเส้นทางเดียวกันคือล้มแล้วล้มอีก
สตาร์ทอัพมักจะประกอบด้วยคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อในสิ่งเดียวกัน ลุกขึ้นมาสร้างเทคโนโลยีตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เพื่อปรับปรุงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น
ในระยะแรกจะมีเพียงกลุ่มผู้ก่อตั้ง หรือ co-founders ที่ช่วยกันทำทุกอย่าง จนกว่าจะสามารถจ้างพนักงานได้ ทีม co-founders จึงมีความสำคัญมาก ทั้งหมดต้องอดทน ทำจริง มีคนที่มีคุณสมบัติของผู้ประกอบการ มีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ปรับเปลี่ยนได้เร็ว และต้องมีวัฒนธรรมการทำงานที่คล้ายกัน จึงจะทำงานด้วยกันราบรื่น เพราะความเร็วหรือ speed คือสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับสตาร์ทอัพ
การสร้างวัฒนธรรมให้สามารถทำงานมากมาย ด้วยคนจำกัด ในระยะเวลาอันสั้นเป็นความท้าทายที่ทุกทีมต้องเจอ นอกจากนั้นทีมทั้งหมดยังต้องเชื่อว่าบริษัทจะเติบโต จนสามารถอดทนรับเงินเดือนเพียงเล็กน้อย หรือไม่รับเลยในช่วงแรกของการทำธุรกิจไปจนกว่าจะเริ่มมีรายได้
Founder ของ Eatigo สตาร์ทอัพไทยที่ระดมทุนไปแล้วหลายร้อยล้านบาท ต้องอดทนถึงเกือบ 2 ปี ไม่รับเงินเดือน จนบริษัทมีรายได้เพียงพอ และระดมทุนได้
นี่เป็นความท้าทายมากมายหลายหลากที่สตาร์ทอัพต้องเจอ นอกจากต้องคลุกคลีกับผู้ใช้งาน หาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม ยังต้องประคับประคองทีม ให้ทำงานได้ตาม speed ที่ต้องการ ยังไม่รวมถึงการทำแพล็ตฟอร์มให้แตกต่าง หาจุดที่เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และการทำการตลาด ฯลฯ
หากมีใครในทีมขอถอนตัว ต้องเร่งหาคนแทน เพื่อไม่ให้สะดุดและมีผลกับ speed ทั้งหมดนี้คือสิ่งท้าทาย ที่ทำให้สตาร์ทอัพหลายทีม จอดตั้งแต่ยังวิ่งไปได้ไม่เท่าไหร่
เมื่อทำแพลตฟอร์มหรือสินค้าเสร็จ เริ่มทำการขายจริง ความท้าทายใหม่ก็เริ่มขึ้น เมื่อเริ่มมีผู้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นจุดเริ่มต้นของการ commercialization หรือการขายเต็มรูปแบบ การปรับปรุงบริการและสินค้า จึงต้องดีที่สุด เร็วที่สุด ทำให้ผู้ใช้งานอยาก “ซื้อซ้ำ”
หากใช้แล้วเลิกใช้ แปลว่าต้องหาลูกค้าใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้เติบโตช้า ในช่วงนี้ทีมจะต้องพัฒนาสินค้าและบริการ ให้ตอบสนองลูกค้าได้อย่างราบรื่นที่สุด
เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น ทีมงานมักจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีรองรับการใช้งาน ก็ต้องจ้างพนักงานเพิ่ม เป็นช่วงที่สตาร์ทอัพต้องบริหารรายได้และรายรับให้ดี ระหว่างความรวดเร็วกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น
ช่วงนี้มักเป็นช่วงขาดทุนที่บริษัทต้องแบกรับ สตาร์ทอัพหลายรายจึงแก้ปัญหาด้วยการระดมทุน หากนักลงทุนเห็นศักยภาพ ก็ถือว่าต่อลมหายใจออกไป หากไม่ได้รับเงินลงทุน ก็มีอันต้องแยกย้าย เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงทีมงาน เป็นช่วงของการล้มหายตายจากไปจากตลาด
เมื่อได้รับเงินลงทุน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการต้องวิ่งให้เร็วขึ้นอีก เพราะ นักลงทุนตั้งตัวเป้าหมายและชี้วัดไว้ หากไปไม่ถึง อาจมีการหยุดให้เงินลงทุนต่อ หลายทีมจึงต้องรีบขยาย นี่คืออีกช่วงที่ท้าทายที่สุด
จากทีมไม่กี่คน ต้องขยายทีม ต้องหาผู้ใช้งานเพิ่ม หรือขยายฐานลูกค้าไปในที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว เป็นอีกช่วงที่จะเห็นสตาร์ทอัพหลายทีมไปต่อไปไม่ได้ ไม่สามารถบริหารทีม และปริมาณงานมากมายที่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่ยังต้องขยายฐานผู้ใช้งานไปด้วยในเวลาเดียวกันได้
ในเวลาสำคัญนี้ สตาร์ทอัพมักใช้เงินทุนที่ได้มา ในการขยายทีมไม่ว่าจะเป็นทีมงาน พัฒนาเทคโนโลยีเพิ่ม หรือใช้เงินทุนในการหาลูกค้า หากขยายไปผิดทาง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เงินที่มีก็จะค่อยๆ หมด ในขณะที่การเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หลายทีมต้องระดมทุนเพิ่ม หากไม่ได้รับเงินลงทุนก็ปรับลดพนักงาน หันมาทำทุกวิถีทางที่จะสร้างรายได้ให้อยู่รอด กลายเป็นซอมบี้ไปในที่สุด คือไม่ตายแต่ก็ไม่โต
นี่คือเส้นทางของสตาร์ทอัพที่เต็มไปด้วยความท้าทาย บนเส้นทางนี้ เงินลงทุน หรือ เทคโนโลยีไม่สำคัญเท่าความสามารถในการทำธุรกิจและความเข้าใจลูกค้า
ที่สุดแล้ววิญญาณผู้ประกอบการของ Founders เท่านั้นที่จะพาทีมให้ผ่านพ้นอุปสรรคในแต่ละช่วง จนเข้าสู่ระยะเติบโต (Growth Stage)
คำถามคือใน 100 สตาร์ทอัพ เราจะได้เจอผู้ประกอบการและทีมที่มีความพร้อมจะสู้กับอุปสรรคได้สักกี่ทีม จึงไม่แปลกเลยที่เราได้เห็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสตาร์ทอัพในจำนวนไม่มากนัก
แต่หากสตาร์ทอัพมีความอดทนเพียงพอ ผ่านช่วงที่ท้าทายต่างๆ ไปได้ ความสำเร็จที่ได้เจอ อาจหมายถึงมูลค่าทางธุรกิจมหาศาลที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จากการทำธุรกิจทั่วๆ ไปอย่างแน่นอน!