Corporate Accelerator จะเป็นพลังสำคัญ ผลักดัน Startup ไทยให้แข็งแกร่ง

Focus Point

  • Deal Maker และ Startup Incubator ซึ่งใน Network ดูแล Startup ในไทยและเซาท์อิสต์เอเชีย มากกว่า 2,000 ราย ครอบคลุมทั้ง Food Service Market Place FMCG Logistic ฯลฯ
  • ทำโครงการ Corporate Accelerator มี  Startup 29 ราย ทำงานร่วมกับทิปโก้

Aimspire ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 โดย คุณอรพิมพ์ เหลืองอ่อน กรรมการผู้จัดการ และต้องหทัย กุวานนท์ Managing Partner อดีตผู้บริหารบริษัทชั้นนำหลายแห่ง

เริ่มจากการเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์ให้หลายบริษัท มีทีมงานซึ่งมีประสบการณ์หลากหลายอุตสาหกรรม  ทั้ง  FMCG Retail Consumer Durable  QSR ฯลฯ ส่วนตัว คุณอรพิมพ์ เคยทำงานด้านมีเดีย และอยู่ฝ่าย  Marketing  ของซิตี้แบงก์มาก่อน

ช่วงปี 2558  Aimspire  เริ่มทำงานเป็น  Mentor ให้กับ Startup ภายใต้โครงการของกรมส่งเสริมการส่งออก  จากนั้นได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสิน  ทำให้มี Startup เข้ามาหาตลอด บริษัทจึงเริ่มขยายงานการเป็น Startup Incubator  จัดคอร์สบ่มเพาะ  ขณะเดียวกันก็มี Connection กับองค์กรด้วย จึงทำหน้าที่เฟ้นหา   Startup   ทำงานเหมือนเป็นตัวแทนทั้งสองฝ่าย ทำให้มาพบ และทำงานด้วยกันได้ราบรื่น

คุณอรพิมพ์ เหลืองอ่อน กรรมการผู้จัดการ  กล่าวว่า งานหลักของ  Aimspire เป็นการช่วยเรื่องการขาย คือ Startup ต้อง “มีของ” มาแล้ว อยากขายของนั้น

”เราดูตั้งแต่ UX UI ดูตั้งแต่การจับ Target Group ดู Business Model ดูว่าเขาควร Commercialized แบบไหน ใช้ช่องทางไหนในการขาย รวมถึง Business Model  ว่าควรเป็น B2B B2C หรือ B2B2C และเชื่อมให้ลูกค้าองค์กรด้วย”

ปัจจุบัน  Aimspire มี Startup  ใน Network ประมาณ 2,000 ราย ทั้งในไทยกับเซาท์อีสต์เอเชีย สัดส่วน 60:40

ครอบคลุม  Food Service Market Place SAS -Software as a Service Agriculture  Farm Management  การปรับปรุง Customer Experience  ฯลฯ  ขณะที่เมื่อบ่มเพาะ Startup ถึงระยะหนึ่ง ก็จะหา Funding  ติดต่อนักลงทุนให้ด้วย

เมื่อถามว่า มองภาพรวม  Startup ในไทยอย่างไร คุณอรพิมพ์ กล่าวว่า Startup ในไทย  “แน่น”

“แน่น” - ในมุมที่ Product เยอะมาก แต่คนทำเกิดจริงๆ ยังไม่เยอะเท่าไหร่“

ประเด็นข้างต้น มองได้เป็น 2 มุม

มุมการลงทุน อาจมองได้ว่า  Startup  เหล่านั้นสามารถเติบโตไปได้แบบหวือหวามากๆ คือ ขยายออกไปต่างประเทศหรือออกไประดับ Global  และ Disrupt อะไรบางอย่าง เมืองไทยกลุ่มนี้  มี แต่ไม่เยอะ

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่พร้อมทำงานกับองค์กร  กลุ่มนี้เยอะกว่า  โดยองค์กรอาจเลือกลงทุนหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อร่วมงานกัน (Partnership) แล้ว  Startup  จะโตขึ้นเยอะ

“Startup ที่โตได้ด้วยตัวเอง เมืองไทยมีน้อยมากๆ นับรายได้เลย กลุ่มนี้ คือ โตด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องโตด้วย Partnership กลุ่มนี้มีเยอะ“

จุดอ่อนของ Startup ไทย

คุณอรพิมพ์ ให้ความเห็นว่า จุดอ่อนของ Startup ไทย คือ ขาด Sense  ความเป็นผู้ประกอบการ

“Startup ไทยไม่ได้ถูกสอนมาให้เป็นผู้ประกอบการเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีเทคโนโลยีเยอะๆ มักโฟกัสอยู่แต่เทคโนโลยี ความรู้ไม่รอบด้าน  ไม่รู้ว่า Consumer Insight เป็นยังไง หลายรายมีของแต่ไม่รู้จะขายใคร”

“หลายคนที่ล้มหายตายจาก เกิดจากว่า ไม่มี Sense ของความเป็นผู้ประกอบการ คนที่เริ่มโตได้ คือ มีวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการสูง“

“เทคโนโลยี ไม่ใช่ Key แต่มันคือความดิ้นรน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด “

กรรมการผู้จัดการ Aimspire  ให้ความเห็นว่า  ที่ผ่านมา คนจำนวนมาก เข้ามาทำ Startup  เพราะเป็นแฟชั่น เป็นกระแส รัฐส่งเสริมเยอะ  มีงานทุกวัน มีให้เงินด้วย มีเวทีประกวด ซึ่งไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่อาจทำให้คนรุ่นใหม่หลายๆคนเข้าใจผิด ว่า Startup เป็นแค่โปรเจ็กต์

“บางคนทำของเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาเป็นปี เป็นแพลตฟอร์ม แต่พอถึงเวลาต้องไปดิ้นรนกับการขายจริงๆ ทำไม่ได้ ก็ล้มหายตายจากไป  หรือบางคนก็เปลี่ยน ผันตัวเองไปรับจ๊อบแทน กลายเป็น Vendor ไป ไม่เป็น  Startup แล้ว“

3 ระดับการร่วมงานกับองค์กร

Aimspire  เริ่มทำงานจัดหา Startup ให้องค์กรตั้งแต่ประมาณ  2 ปีที่แล้ว  เริ่มจากธุรกิจประกันภัยที่ต้องการเทคโนโลยี เพื่อทำให้การประกันดีขึ้น ปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า หลังจากนั้นก็มีกลุ่มอื่นๆ เข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น  Logistic Distributor FMCG Food  ฯลฯ

โดยการทำงาน เน้นเชิงกลยุทธ์  คือ องค์กรที่ต้องการลงทุนกับ Startup  ไปต่อยอดทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ สินค้าและบริการใหม่ๆ Innovation ใหม่ๆ การเกี่ยวข้อง มี 3 ระดับ คือ

  1. Partnership   ไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น  เป็นเพียงการต่อยอดของสินค้าและบริการ
  2. Co-Create Co-Innovate  ทำงานร่วมกัน ร่วมสร้างสรรค์ ผลิตอะไรออกมาสักอย่างหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเยอะ
  3. Investment  องค์กรเข้าไปลงทุนใน Startup เช่น  เข้าไปถือหุ้น  เป็น Strategic Partner

สำหรับ  Aimspire หากเปรียบเทียบว่า ได้ Startup มา 100 ทีม  50% เป็น Partnership 30% เป็น Co-Create  และ  20% เป็น Investment

Corporate Accelerator ขุมพลังสร้างอนาคตใหม่

Tipco CONNEXT  Hackathon  ภายใต้แนวคิด Eat Proper Wherever You Are เป็นโครงการ Corporate Accelerator ที่ Aimspire ทำให้ทิปโก้

ล่าสุด หลังจบโครงการ  มี Startup ประมาณ 29 ราย กำลังจะทำงานกับทิปโก้  โดยทีมที่ร่วมงานจริงจังแล้ว เช่น  Foodindiv  แพลตฟอร์มเลือกอาหารให้เหมาะกับสุขภาพ  โดยทิปโก้นำไปใช้จริง  เริ่มจากในองค์กรก่อน และขยายความร่วมมือต่อไป  

คุณอรพิมพ์ ให้ความเห็นถึงการทำงานกับองค์กรว่า หลายครั้ง องค์กรไม่รู้ว่า อยากได้อะไรจาก Startup  พื้นฐานคือ ต้องการ  Innovation ใหม่ๆ อยากได้แพลตฟอร์ม Business Model ใหม่ๆ  Aimspire ก็จะเข้าไปช่วยตั้งแต่ตอนแรก

“เราดูสิ่งที่เขามี สิ่งที่ขาด Pain Point ที่เจออยู่  Startup ตอบได้ไหม ถ้าตอบได้ เราก็ช่วยตั้งแต่ตอนนั้นเลย ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ เพราะจริงๆ  Startup  ก็กว้างมาก หาหว่านๆ ไปก็จะไม่โดน ต้อง Specific Area Specific Technology ลงมา ถึงจะตอบได้จริงๆ ต้องเรียกว่า เราเน้นมุมลึก เน้นความเข้าใจอุตสาหกรรม”

กรรมการผู้จัดการ Aimspire ฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ลูกค้าบางรายอยู่ในธุรกิจ Fin Tech แต่สิ่งที่มองหาอาจไม่ใช่ Startup  เกี่ยวกับ Fin Tech ก็ได้

“คือเขามองหาเรื่อง  Customer Experience มองหาเรื่อง  Marketing  มองหาอะไรที่ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ดีขึ้น มี  App มาช่วย  สรุป คือ  Aimspire เชี่ยวชาญเรื่อง Commercialization เรื่อง Marketing เรื่องการช่วยองค์กร ให้มี Innovation ใหม่ๆ การหา Business Model ใหม่ๆ เรื่องการทำให้ Corporate  คือเราไม่มีข้อจำกัด เรื่องอุตสาหกรรม“

What’s Next  ?

คุณอรพิมพ์ กล่าวว่า Aimspire  ไม่ได้ตั้งเป้าเป็นตัวเลข แต่ตั้งเป้า เรื่องอยากเห็นเป็นรูปธรรมในมุมที่เมื่อ Startup ทำงานกับองค์กรแล้ว มีนวัตกรรมใหม่ๆ  Business Model ใหม่ๆ ออกมา ทำให้ทั้งคู่เติบโต รุ่งเรือง

คุณอรพิมพ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน  Tech Startup เป็นที่รู้จักอยู่ในคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จุดมุ่งหมาย คือ ต้องการทำให้กว้างขึ้น อยากให้ Startup สามารถ  Go Mass ได้  อยากให้องค์กรได้เทคโนโลยี ทำงานกับ Startup  ที่มีคุณภาพ

กรรมการผู้จัดการ  มองว่า 3 ปีจากนี้ Startup เมืองไทย จะยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ มี Corporate Accelerator เยอะขึ้นเรื่อยๆ ยิ่ง Startup  ทำงานกับองค์กรมากขึ้นเท่าไหร่  ก็จะโตมากขึ้นเท่านั้น

“เพราะหนึ่ง คนเริ่มรู้มากขึ้นแล้วว่า Startup คืออะไร สอง รุ่นพี่ผ่านบทเรียนมาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นการถ่ายทอด  Ecosystem ต่างๆ ก็ช่วยให้คนรุ่นต่อๆ มาโตได้เร็วขึ้น เทคโนโลยีจะไปเร็วมาก“
“ส่วนในฝั่ง Corporate ต่อไปต้องปรับตัวเยอะมาก ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ โครงสร้างเคลื่อนไหวช้าจะไม่ทัน ต้องปรับตัวเร็วมาก และตามเทคโนโลยีให้ทัน เพราะมันไปเร็วจริงๆ คือ Corporate ภาระรับผิดชอบเยอะมาก มียอดขาย มี KPI ต้องโน่นต้องนี่ เต็มไปหมด แต่ถ้าไม่ปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ อีกสามปี ก็จะตามไม่ทัน “

http://www.brandage.com/article/9467/Aimspire